15 พ.ย. 2554 เริ่มบังคับใช้กฎกระทรวงตรวจสอบมาตรฐานเว็บไซต์
ผมไม่ได้พิมพ์ผิดนะครับ ผมหมายถึงเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงไม่ได้ จริง ๆ บทความนี้ตั้งใจจะเขียนให้เห็นว่าเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงไม่ได้เป็นอย่างไร และมีผลอย่างไรบ้าง ? ขอเริ่มต้นด้วยนิยามก่อนครับ

คำว่า "ทุกคน" หมายถึง คนในหลาย ๆ กลุ่ม ทั้งคนปกติอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ใช้อินเตอร์เน็ต ใช้เว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ รวมถึงคนพิการด้วยนะครับ ได้แก่ คนตาบอด คนพิการทางการได้ยิน เป็นต้น

คำว่า "เข้าถึงไม่ได้" คือ การที่ไม่สามารถในการเอาสารสนเทศจากเว็บไซต์มาใช้งานได้ นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ตามแต่ กรณีนี้ต้องยกตัวอย่างนะครับ
  • การใช้ตัวอักษรวิ่งในเว็บไซต์ สร้างปัญหาในการเข้าถึงของกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ เพราะบางทีเร็วมาก จนอ่านตามไม่ทันเลยทีเดียว
  • การใช้สีตัวอักษร ที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การที่มี Contrast ไม่เพียงพอ ทำให้อ่านยาก หรือ อ่านไม่ได้
  • วางโครงสร้างเอกสารไม่ดี ว่าอะไรเป็นหัวข้อหลัก หัวข้อย่อย คนอ่าน ก็งง Google Bot ก็งง ว่าจะเน้นเรื่องอะไรกันแน่ในเว็บเพจนี้
  • เว็บบางเว็บเชื่อหรือไม่ว่า ถ้าไม่มีเมาส์ อาจจะใช้เว็บไซต์นั้นไม่ได้เลย เช่นมีช่องกรอกข้อมูลที่ทำด้วย Flash แต่ไม่ accessible อันนี้ก็เรียกว่าเข้าไม่ถึง

ผลเสียของเว็บไซต์ที่เข้าไม่ถึง

  • คนก็ไม่อยากจะเปิดเว็บไซต์ของเรา คือเปิดแล้ว อยากจะปิดทิ้ง หากเราเป็นร้านค้า Online ก็คงทำให้ลูกค้าเราไปเปิดเว็บคนอื่นหมด หรือหากเราเป็นองค์กร ก็คงมีภาพลักษณ์ไม่ดี
  • การค้นหาก็จะยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาจากตัวเว็บไซต์เอง หรือ จาก Google เพราะ Google ก็ไม่ค่อยอยากเสวนาด้วย เพราะ Google Bot เข้าเว็บเราแล้ว เก็บข้อมูลกลับก็จะไม่ค่อยได้ บางอย่างก็เอาไปไม่ได้เพราะ เข้าไม่ถึงเช่นกัน
  • ภาพลักษณ์ของเว็บเราก็จะมีปัญหา เพราะคนก็อาจจะเห็นว่า เว็บไซต์ยังไม่ได้มาตรฐานเลย
  • การดูแลเว็บไซต์ในระยะยาว ก็จะดูแลได้ยากกว่า และการนำข้อมูลสารสนเทศไปแสดงผลในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่คนละ Platform ทำได้ยากกว่า หรือมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก
 

ขั้นตอนในการทำเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงไม่ได้ทำไม่ยากครับ (อาจจะยากสำหรับหลายๆ คน)

  • วาง Layout เว็บไซต์ด้วย Tag <TABLE>
  • ใช้การตกแต่งประกอบ เช่น <FONT>,<CENTER>,<B>,<U>,<I>เป็นต้น
  • ไม่ต้องกำหนด Doc Type ของเอกสาร
  • ไม่ต้องกำหนด Lang ของเอกสาร
  • กำหนด Title ของเว็บเพจ เป็น พวก Keyword หรือ อะไรที่หลาย ๆ เว็บไซต์ทำกัน
  • กำหนดสีสันตามต้องการ เอาให้เราว่าสวยก็ OK
  • CSS ก็อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้
  • บาง Tag เปิดแล้วก็ไม่ต้องปิดก็ได้ เพราะแสดงได้ผลเหมือนกัน
  • ใส่ตัวอักษรวิ่งบ้าง มีตัวอักษรกระพริบ บ้าง คนน่าจะชอบกัน
 
ขอแนะนำขั้นตอนการทำเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงไม่ได้เท่านี้ก่อนครับ และหากมีโอกาสจะมาเพิ่มเติมเทคนิคใหม่ ๆ เพิ่มเติม ย้ำนะครับ ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงไม่ได้
หมายเหตุ: องค์กร W3C ได้ออกโลโก้ที่สามารถนำไปใช้กับเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาได้มาตราฐาน ซึ่งการตรวจสอบด้วยคอมพิวเตอร์นั้นถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบเว็บไซต์ โดยในการตรวจสอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องตรวจสอบในระดับ User แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงการตรวจสอบด้วยโปรแกรมช่วยเหลือสำหรับ User แต่ละประเภท เช่น โปรแกรม Screen Reader เพื่อยืนยันว่าเนื้อหาต่าง ๆ ของเว็บไซต์ เป็นสารสนเทศที่สามารถเข้าถึงได้ครบถ้วน ได้มาตราฐาน

Date: 
Monday, 16 July 2012